Friday, October 8, 2010

สถานที่ท่องเที่ยวสิงห์บุรี


วัดสว่างอารมณ์

ตั้งอยู่ที่บ้านบางมอญ ตำบลต้นโพธิ์ ในเขตเทศบาลอำเภอเมืองสิงห์บุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าไปทางลำน้ำเจ้าพระยาประมาณ 2 กิโลเมตร

วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร

เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ในตำบลจักรสีห์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่และยาวที่สุดของประเทศ สร้างมานานเก่าแก่จนไม่ทราบ แน่ชัดว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าในทำนองนิยายปรำปรา ทำนองเดียวกันกับพระ ปฐมเจดีย์ เช่น กล่าวว่าพระเจ้าสิงหพาหุเป็นผู้สร้าง แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าพระเจ้าพาหุคือผู้ใด ครองเมืองอะไร ในยุคสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี องค์พระหันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ความยาว 3 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว

วัดโบสถ์

วัดโบสถ์ ห่างจากตัวเมือง ไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-ชัยนาท (สายเก่า)ประมาณ ๑๖ กม. เป็นพระอารามหลวง เดิมเป็นวัดร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในวัดมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี และพระอุโบสถเพียงแห่งเดียวที่สร้างโดยใช้รางรถไฟเป็นแกนกลางข้างล่าง

วัดโบสถ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี หรือเป็นพระอารามหลวงวัดแรกในจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยมีพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระเทพสุทธิโมลี เป็นผู้มีอุปการะคุณต่าง ๆ ต่ออำเภออินทร์บุรี และเป็นวัดที่มีพระภิกษุ สามเณรเป็นจำนวนมาก

ภายในวัดยังมีโรงเรียนวัดโบสถ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประถม พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินทร์บุรี หอสมุดแห่งชาติ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม (โรงเรียนพระภิกษุ สามเณร) เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ตั้งแต่ ม. 1 - 6 เป็นสถานศึกษาของสามเณรทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งในปัจจุบันนี้มีสามเณรที่เรียนประมาณ 90 รูป

Wednesday, October 6, 2010

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดสิงห์บุรี


พิพิทธภัณฑ์อินทร์บุรี

ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับวัดโบสถ์ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดโบสถ์มาก่อน ก่อตั้งโดยอดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ พระเทพสุทธิโมลี เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรีและอุทัยธานี


แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย

ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา





เมืองโบราณบ้านคูเมือง

(อยู่ภายในสวนรุกขชาติคูเมือง) ตั้งอยู่ที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยชัน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 23 กิโลเมตร

Tuesday, October 5, 2010

ข้อมูลจังหวัดสิงห์บุรี

"ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนปลาแม่ลา ย่านการค้าภาคกลาง"

จังหวัดสิงห์บุรีตั้งอยู่ในเขตภาคกลางตอนบน ริมฝั่งด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดดเด่นและยิ่งใหญ่ด้วยเรื่องราววีรกรรมการสู้รบของชาวบ้านบางระจัน แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่างๆ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศาสนา

จังหวัด สิงห์บุรีมีเนื้อที่ประมาณ 822.478 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 514,049 ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 73 ของประเทศไทย ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มและพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนริมแม่น้ำจำนวนมากเป็นเวลานาน ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะแก่การทำกสิกรรม มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำลพบุรี นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสายอื่นๆ คือ ลำแม่ลา ลำการ้อง ลำเชียงราก และลำโพธิ์ชัย

สันนิษฐานว่าสิงห์บุรีสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 1650 โดยพระเจ้าไกรสรราช โอรสของพระเจ้าพรหม หรือพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก ผู้ครองเมืองชัยปราการ เมื่อครั้งเสด็จพาไพร่พลมาครองเมืองลพบุรีตามรับสั่งพระราชบิดา ได้ทรงล่องเรือมาตามแม่น้ำ แล้วแวะพักขึ้นบก ณ จุดที่เป็นที่ตั้งเมืองสิงห์บุรีเดิม คือ บริเวณริมฝั่งลำน้ำจักรสีห์ ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสิงห์บุรี ในปัจจุบัน

เมื่อถึงรัช สมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในราวปี พ.ศ. 2437 ได้มีการจัดรูปแบบการปกครองเมืองระบอบมณฑลเทศาภิบาลใหม่ จึงได้มีการจัดตั้งมณฑลกรุงเก่า (มณฑลอยุธยา) ขึ้น ประกอบด้วยเมือง 8 เมือง คือ กรุงเก่าพระพุทธบาท พรหมบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และอินทร์บุรี ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2438 เมืองสิงห์บุรีถูกจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัด และมีการยุบเมืองพรหมบุรีและเมืองอินทร์บุรีลงเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมกับตั้งเมืองสิงห์บุรีขึ้นใหม่ที่ตำบลบางพุทรา ส่วนเมืองสิงห์บุรีเดิมยุบเป็นอำเภอสิงห์ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางระจัน จนถึงปัจจุบัน

เรื่องราว สำคัญในประวัติศาสตร์ที่ทำให้จังหวัดสิงห์บุรีเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น คือ วีกรรมของชาวบ้านบางระจัน เมื่อครั้งที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในสมัยของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ หรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ จนต้องสูญเสียเอกราชไปในปี พ.ศ. 2310 ในครั้งนั้น ชาวบ้านบางระจันสามารถยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพพม่าที่เดินทัพผ่านมาถึงบ้าน บางระจันได้อย่างหาญกล้า เป็นเวลานานถึง 5 เดือน โดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุธยาเลย จึงนับเป็นวีรกรรมอันน่ายกย่องเชิดชูครั้งหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบัน ทางจังหวัดสิงห์บุรีได้ตั้งชื่อถนนต่างๆ ในตัวเมืองตามชื่อของวีรชนบ้านบางระจัน เช่น ถนนนายแท่น ถนนนายดอก ถนนนายอิน ถนนนายเมือง และถนนขุนสรรค์ เป็นต้น เพื่อเป็นเกียรติแก่เหล่าวีรชนชาวบ้านบางระจันในอดีต

ปัจจุบัน จังหวัดสิงห์บุรีแบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภอบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน อำเภอพรหมบุรี อำเภอท่าช้าง และอำเภออินทร์บุรี